ความสามารถในการตอบสนองของมนุษย์เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน

เชื่อว่าความสามารถในการตอบสนองเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินของมนุษย์นั้นมีความแตกต่างกันในแต่ละบุคคล ขึ้นอยู่กับว่าบุคคลนั้นๆ มีสติหรือได้รับการฝึกฝนมาบ่อยมากน้อยแค่ไหน โดยความสามารถในการตอบสนองนั้นจะเกี่ยวข้องกับระยะเวลาในการตัดสินใจว่าเร็วหรือช้าเพียงใดด้วย และผลจากการตัดสินใจนั้นควรต้องคำนึงถึงผลเสียที่อาจจะเกิดตามมา เช่น ปริมาณความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สิน เป็นต้น

มีการวิจัยพบว่า ช่วงเวลาที่สมองตื่นตัวต่ำจะทำให้ความสามารถในการตอบสนองลดลงและทำให้มีโอกาสที่จะเกิดอุบัติเหตุสูงขึ้น ซึ่งทักษะที่จำเป็นในการขับขี่ ได้แก่ ความถูกต้องในการตอบสนอง ความไวในการตอบสนอง และการบังคับพวงมาลัย โดยในปัจจุบันมีเทคโนโลยีที่สามารถวัดทักษะในการขับขี่เหล่านี้ได้ อีกทั้ง ถ้าหากผู้ขับขี่ยิ่งลดความผิดพลาดได้เท่าไหร่ โอกาสการเกิดอุบัติเหตุก็ยิ่งน้อยลงเท่านั้น เช่น ถ้าหากผู้ขับขี่มีค่าความถูกต้องในการตอบสนองน้อยก็ให้มีการฝึกฝนเพิ่มขึ้น หรือถ้าหากความไวของปฏิกิริยาการตอบสนองต่ำ ก็ควรหยุดพักให้บ่อยขึ้นเพื่อให้มีสติในการขับขี่อยู่เสมอ นอกจากนี้ด้านการบังคับพวงมาลัย ก็จะเป็นทักษะที่เกี่ยวข้องกับความชำนาญของผู้ขับขี่เอง โดยผู้ขับขี่ก็ควรฝึกฝนตนเองให้มีความชำนาญก่อนมีการขับขี่จริงบนท้องถนน เพื่อเป็นการลดโอกาสการเกิดอุบัติเหตุและความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นได้

ตามทฤษฎีโดมิโน (Domino Theory) หรือทฤษฎีการเกิดอุบัติเหตุของเฮนริช (H.W. Heinrich) กล่าวว่า หากโดมิโนตัวที่ 1 (สภาพแวดล้อมหรือภูมิหลังของบุคคล)ล้ม ย่อมส่งผลให้โดมิโนตัวถัดไปล้มตาม ดังนั้น หากไม่อยากให้โดมิโนตัวที่ 4 (อุบัติเหตุ)ล้ม ก็ต้องเอาโดมิโนตัวที่ 3 (การกระทำหรือสภาพการณ์ที่ไม่ปลอดภัย)ออก นั่นหมายถึงต้องกำจัดสถานการณ์ที่ไม่ปลอดภัยทิ้งไปนั่นเอง เพื่อหลีกเลี่ยงการบาดเจ็บหรือความเสียหายที่จะเกิดขึ้น เพราะฉะนั้น ถ้าหากผู้ขับขี่ได้มีการพัฒนาทักษะทั้ง 3 ด้าน (ความถูกต้องในการตอบสนอง ความไวในการตอบสนอง และการบังคับพวงมาลัย) ดังที่กล่าวมาแล้ว จะเป็นการลดสถานการณ์เสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น ทำให้เป็นการลดโอกาสการเกิดอุบัติเหตุด้วยเช่นกัน

 

 

 

 

 

 

 

AUTHOR

Tanaporn Longwech