[สรุป]
- การคาดเข็มขัดนิรภัยสามารถลดความรุนแรงของอุบัติหตุได้ 40% สำหรับผู้โดยสารเบาะหน้า และ 70% สำหรับผู้โดยสารเบาะหลัง
- การสวมใส่หมวกกันน็อคมีประสิทธิภาพในการป้องกันการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุได้ประมาณ 43% สำหรับผู้ขับขี่ และ 58% สำหรับผู้โดยสาร
- การคาดเข็มขัดนิรภัยอย่างถูกประเภทและถูกวิธีสามารถลดโอกาสเสียชีวิตและการบาดเจ็บอย่างรุนแรงได้
- เพื่อความปลอดภัยควรทำการเลือกและติดตั้งคาร์ซีทสำหรับเด็กอย่างเหมาะสม
- บุคคลภายในรถทุกคนจำเป็นต้องคาดเข็มขัดนิรภัย และสวมใส่หมวกกันน็อคในกรณีขับขี่รถมอเตอร์ไซค์ หากฝ่าฝืนอาจมีโทษปรับ 400-5,000 บาท
เกิดอะไรขึ้นกับร่างกายของคุณระหว่างอุบัติเหตุทางถนน?
แรงกระแทกของรถยนต์ที่เคลื่อนที่ด้วยความเร็ว 60 กม./ชม. นั้นเทียบเท่ากับแรงกระแทกจากการที่รถยนต์
ร่วงจากอาคารสูง 14 เมตร หรืออาคาร 5 ชั้น โดยที่ความเร็วของผู้โดยสารขณะเดินทางจะเทียบเท่ากับความเร็วรถ หากเกิดอุบัติเหตุในขณะที่ผู้โดยสารไม่ได้คาดเข็มขัดนิรภัย ส่วนหัว ใบหน้า และร่างกายของผู้โดยสารจะถูกเหวี่ยงเข้าหาพวงมาลัยและกระจกหน้ารถจนส่งผลให้หมดสติหรือเสียชีวิตได้
ในกรณีของการเกิดอุบัติเหตุขณะที่ผู้ขับขี่หรือผู้โดยสารไม่ได้สวมใส่หมวกกันน็อค แรงเหวี่ยงอาจทำให้ศีรษะกระแทกพื้นหรือของแข็ง และนำไปสู่การบาดเจ็บ โดยมีความเสี่ยงที่จะมีอาการเสียเลือดจากบาดแผลบนศีรษะ และแม้ว่าจะไม่มีบาดแผลที่ภายนอก แต่การถูกกระทบกระเทือนอย่างรุนแรงอาจส่งผลให้เกิดอาการสมองช้ำ เลือดออกภายในศีรษะหรือสมอง ความเสียหายต่อระบบประสาทและระบบหลอดเลือดภาวะอัมพาต และเนื้องอกในสมองได้
ประโยชน์ของการคาดเข็มขัดนิรภัยและสวมใส่หมวกกันน็อค
เข็มขัดนิรภัยจะช่วยรักษาตำแหน่งของร่างกายให้อยู่บนเบาะนั่ง ซึ่งออกแบบมาให้ทำงานร่วมกับระบบถุงลมนิรภัยในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุรถชน โดยถุงลมนิรภัยนั้นจะรองรับส่วนหัวและหน้าอกจากด้านหน้า ในขณะที่เข็มขัดนิรภัยจะช่วยล็อคร่างกายให้อยู่บนเบาะนั่ง หากผู้โดยสารไม่ทำการคาดเข็มขัดนิรภัยระบบการทำงานที่ออกแบบมาเพื่อให้ทำงานร่วมกับถุงลมก็จะไม่มีประสิทธิภาพ การคาดเข็มขัดนิรภัยสามารถช่วยลดความเสี่ยงที่จะเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ 40% สำหรับผู้โดยสารเบาะหน้า และ 70% สำหรับผู้โดยสารเบาะหลัง
การสวมหมวกกันน็อคสามารถช่วยลดผลกระทบจากอุบัติเหตุที่ศีรษะ เนื่องจากเยื่อบุด้านในของหมวกสามารถดูดซับแรงกระแทกได้ การสวมหมวกกันน็อคแบบเต็มใบที่ครอบคลุมทั้งใบหน้าจึงสามารถลดแรงกระแทกที่ศีรษะกรณีเกิดอุบัติเหตุได้เป็นอย่างมาก จากผลการวิเคราะห์ทางสถิติเกี่ยวกับอุบัติเหตุรถชนพบว่า หมวกกันน็อคสำหรับมอเตอร์ไซค์สามารถช่วยลดความเสี่ยงของการบาดเจ็บที่ศีรษะได้ 50-70% นอกจากนี้การสวมหมวกกันน็อคยังช่วยป้องกันการเสียชีวิตได้ประมาณ 43% สำหรับผู้ขับขี่ และ 58% สำหรับผู้โดยสาร
การคาดเข็มขัดนิรภัยและการสวมหมวกกันน็อคอย่างถูกประเภทและถูกวิธีสามารถลดโอกาสเสียชีวิตและการบาดเจ็บอย่างรุนแรงได้
การใช้งานเข็มขัดนิรภัยและหมวกกันน็อคเพื่อความปลอดภัย
การคาดเข็มขัดนิรภัย
สำหรับผู้โดยสารทั่วไป ควรคาดเข็มขัดนิรภัยผ่านบริเวณกระดูกไหปลาร้าให้แน่นโดยไม่พลิกสายเพื่อให้ตัวเข็มขัดสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเนื่องจากด้านขอบบางของเข็มขัดนั้นสามารถบาดผิวหนังได้ง่าย เพื่อหลีกเลี่ยงการบาดเจ็บที่คอและใต้รักแร้ จังควรรัดเข็มขัดในแนวทแยงพาดหัวไหล่ นอกจากนี้ควรคาดเข็มขัดนิรภัยแนวนอนไว้เหนือบริเวณอุ้งเชิงกรานและไม่ควรพาดผ่านช่องท้องเพื่อลดแรงกดจากเข็มขัดในขณะเกิดอุบัติเหตุ
สำหรับสตรีมีครรภ์ ควรคาดเข็มขัดนิรภัยเหนือหน้าตักและหย่อนสายเข็มขัดไปด้านข้างเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้เข็มขัดรัดหน้าท้องโดยตรง สามารถใช้หมอนหรือแผ่นรองบริเวณหน้าท้องส่วนล่างเพื่อลดการเสียดสีและแรงกดที่อาจเป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์ นอกจากนี้การปรับเบาะนั่งให้ห่างจากพวงมาลัยประมาณ 10 นิ้ว ก็สามารถช่วยลดการบาดเจ็บจากการกระตุกของเข็มขัดนิรภัยในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุได้เช่นกัน
สำหรับเด็กที่มีส่วนสูงต่ำกว่า 140 เซนติเมตร หรือมีน้ำหนักน้อยกว่า 30 กิโลกรัม ไม่ควรคาดเข็มขัดนิรภัยที่มากับรถยนต์โดยตรงเนื่องจากอาจอยู่ตำแหน่งที่ไม่เหมาะสม ควรติดตั้งคาร์ซีทในรถโดยยึดกับเบาะหลังและใช้สายรัดเพื่อกระชับร่างกายของเด็ก คาร์ซีทมีหลายประเภทสำหรับทารกแรกเกิดถึงเด็กอายุ 12 ปี ซึ่งควรเลือกและติดตั้งอย่างเหมาะสมเพื่อความปลอดภัย
สำหรับเด็กที่มีส่วนสูงต่ำกว่า 140 เซนติเมตร หรือมีน้ำหนักน้อยกว่า 30 กิโลกรัม ไม่ควรคาดเข็มขัดนิรภัยที่มากับรถยนต์โดยตรงเนื่องจากอาจอยู่ตำแหน่งที่ไม่เหมาะสม ควรติดตั้งคาร์ซีทในรถโดยยึดกับเบาะหลังและใช้สายรัดเพื่อกระชับร่างกายของเด็ก คาร์ซีทมีหลายประเภทสำหรับทารกแรกเกิดถึงเด็กอายุ 12 ปี ซึ่งควรเลือกและติดตั้งอย่างเหมาะสมเพื่อความปลอดภัย
การสวมใส่หมวกกันน็อค
สิ่งที่ควรรู้ในการเลือกหมวกกันน็อค คือ หมวกกันน็อคดังกล่าวนั้นตรงตามมาตรฐานความปลอดภัยหรือไม่ โดยมาตรฐานในประเทศไทย คือ ใบรับรอง มอก. นอกจากนี้เพื่อความปลอดภัยในการสวมใส่ ระบบยึดหมวกกันน็อค หรือสายรัดคางควรถูกรัดไว้ที่ใต้คางเพื่อรักษาตำแหน่งหมวกกันน็อคให้อยู่บนศีรษะขณะขับขี่ หากหมวกกันน็อคชำรุดเสียหายเนื่องจากอุบัติเหตุ ควรทำการเปลี่ยนหมวกกันน็อคทันทีและไม่นำกลับมาใช้อีก หมวกกันน็อคนั้นมีอายุการใช้งาน 3 ปี ซึ่งควรเปลี่ยนตามอายุการใช้งาน โดยหมวกกันน็อคมีหลากหลายประเภท ดังนี้
- หมวกกันน็อคแบบเต็มใบ เป็นประเภทที่ให้การปกป้องสูงสุดเนื่องจากครอบศีรษะและคางทั้งหมด
- หมวกกันน็อคแบบเปิดหน้า เป็นประเภทที่มีส่วนประกอบพื้นฐานเดียวกันกับหมวกกันน็อคแบบเต็มใบ ทว่าไม่มีอุปกรณ์ป้องกันคาง
- หมวกกันน็อคแบบครึ่งใบ เป็นประเภทที่ป้องกันเฉพาะศีรษะ ซึ่งไม่แนะนำให้สวมใส่ เนื่องจากมีแนวโน้มที่หมวกอาจหลุดออกจากศีรษะได้เมื่อโดนแรงกระแทก
ข้อบังคับด้านความปลอดภัยทางถนนของประเทศไทย
ผู้โดยสารในรถยนต์ทุกคนจะต้องคาดเข็มขัดนิรภัย (ผู้ขับขี่ ผู้โดยสารด้านหน้า และผู้โดยสารด้านหลัง) เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะเดินทางโดยรถยนต์ส่วนตัวหรือแท็กซี่ โปรดอย่าลืมคาดเข็มขัดนิรภัย หากฝ่าฝืนมีโทษปรับสูงสุด 500 บาทต่อผู้โดยสารหนึ่งคน นอกจากนี้ผู้โดยสารทุกคนที่เดินทางโดยรถโดยสารและรถตู้ขนาดเล็กก็จำเป็นต้องคาดเข็มขัดนิรภัยด้วยเช่นกัน ในกรณีที่พบผู้โดยสารไม่คาดเข็มขัดนิรภัย อาจมีโทษปรับสูงสุดคนละ 5,000 บาท
อย่างไรก็ตาม เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่พระราชบัญญัติจราจรทางบก (ฉบับที่ 13) พ.ศ. 2565 ลงวันที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2565 ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในอีก 4 เดือนข้างหน้า หรือในวันที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2565 ว่า “เด็กที่อายุต่ำกว่า 6 ปี หรือมีส่วนสูงไม่เกิน 135 เซนติเมตร หรือน้อยกว่า จะต้องนั่งในเบาะเสริมหรือที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็ก (คาร์ซีท) และผู้โดยสารทุกคนต้องคาดเข็มขัดนิรภัยตลอดเวลา โดยหากฝ่าฝืนอาจมีโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท”
สำหรับโทษปรับของการขับขี่รถมอเตอร์ไซค์โดยไม่สวมหมวกกันน็อค ตามประกาศล่าสุดของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีรายละเอียดดังนี้
“หากผู้ขับขี่ไม่สวมหมวกกันน็อค อาจมีโทษปรับสูงสุดไม่เกิน 400 บาท ผู้โดยสารที่ไม่สวมหมวกกันน็อคอาจมีโทษปรับสูงสุด 800 บาท หรือรวมเป็น 1,200 บาท”
สรุป
อุบัติเหตุทางถนนเกิดขึ้นบ่อยครั้งในประเทศไทย ส่งผลให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก ความประมาทเลินเล่อในการคาดเข็มขัดนิรภัยและสวมหมวกกันน็อคเองก็จัดเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้เกิดการบาดเจ็บและเสียชีวิตดังกล่าว จุดประสงค์ของการเดินทางโดยใช้รถยนต์และมอเตอร์ไซค์นั้น นอกจากการเดินทางส่วนตัวแล้วยังรวมไปถึงการเดินทางเพื่อธุรกิจ อุบัติทางถนนจึงเป็นความเสี่ยงที่บริษัทไม่ควรมองข้าม การจัดให้มีการอบรมขับขี่ปลอดภัยให้กับพนักงานอย่างสม่ำเสมอเป็นวิธีการที่มีประสิทธิภาพอย่างมากในการลดความเสี่ยงและความรุนแรงของอุบัติเหตุทางถนน โดยบริษัท InterRisk Asia (Thailand) นั้นมีบริการจัดอบรมด้านการขับขี่ที่ปลอดภัยด้วยเครื่องมือ KYT สำหรับผู้ขับขี่รถยนต์และรถมอเตอร์ไซค์ หากท่านสนใจ สามารถติดต่อสอบถามข้อมูลได้ผ่านเว็บไซต์ของเรา
อ้างอิง
- https://www.dlt.go.th/site/trang/m-news/6648/view.php?_did=40610
- https://www.thairath.co.th/news/local/504188
- https://thematter.co/brandedcontent/thaihealth-helmet-03/74440
- http://roadsafety.disaster.go.th/
- https://www.bangkokbiznews.com/news/1003907
- https://ratchakitcha2.soc.go.th/pdfdownload/?id=139A028N0000000000500
- https://www.thaipbsworld.com/kids-under-6-in-cars-in-thailand-must-be-secured-in-child-seats-from-september/
- https://www.cdc.gov/injury/features/child-passenger-safety/index.html
- http://roadsafety.disaster.go.th/upload/minisite/file_attach/196/5bb5e0e621c38.pdf
- https://learndriving.tips/learning-to-drive/proper-way-to-wear-seat-belt/